บทที่ 1
การงานอาชีพ
เรื่องที่ 1 ความสำคัญและความจำเป็นในการขยายอาชีพ
การขยายขอบข่ายอาชีพ หมายถึง กิจกรรมอาชีพที่มีอยู่แล้ว และสามารถขยายกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง และสัมพันธ์กับอาชีพเดิมออกไปเป็นอาชีพที่สร้างรายได้เพิ่มขึ้น โดยใช้ทุนทรัพยากรจากอาชีพหลักให้เกิดคุณค่า และสร้างความเข้มแข็งยั่งยืนในอาชีพ เช่น
1. การขยายขอบข่ายอาชีพจากการหมุนเวียนเปลี่ยนรูปผลิตภัณฑ์หรือผลพลอยได้ไปสู่กิจกรรมใหม่ เช่น สร้างธุรกิจแปรรูปหมูจากฟาร์มสุกรของตนเอง สร้างธุรกิจปุ๋ยหมักจากมูลสุกร
2. การขยายขอบข่ายอาชีพจากการสร้างและพัฒนาเครือข่ายจากอาชีพ เช่น เฟรนไชส์ ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว การสร้างเครือข่ายนาข้าวอินทรีย์
3. การขยายขอบข่ายอาชีพจากการตลาด เช่น สวนมะพร้าวน้ำหอมแม่ตุ้ม ศูนย์กลางรับซื้อและขายส่งมะพร้าวน้ำหอม ภายใต้การควบคุมคุณภาพของตนเอง
4. การขยายขอบข่ายอาชีพ จากการส่งเสริมการท่องเที่ยว เช่น ท่องเที่ยวชิมผลไม้ ชมสวนชาวไร่จันทบุรี
5. การขยายขอบข่ายอาชีพกับการส่งเสริมสุขภาพและอนามัย เช่น การพักฟื้น รับประทานอาหารธรรมชาติไร้สารพิษ ปฏิบัติธรรมกับ Home
Stay คลองรางจระเข้
6. การขยายขอบข่ายอาชีพกับการเรียนรู้ เช่น เรียนรู้ระบบนิเวศ ความพอเพียงที่ไร่นาสวนผสม
เรื่องที่ 2 การขยายอาชีพในชุมชน สังคม ประเทศ และภูมิภาค 5 ทวีป
การประกอบอาชีพในปัจจุบันได้มีการกำหนดลักษณะอาชีพ แบ่งได้ 5 ลักษณะอาชีพ
2.1 งานอาชีพด้านเกษตรกรรม คือ การพัฒนาอาชีพในด้านการเกษตรเกี่ยวกับการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ การประมง โดยนำองค์ความรู้ใหม่ เทคโนโลยี นวัตกรรม มาพัฒนาให้สอดคล้องกับศักยภาพหลักของพื้นที่
2.2 งานอาชีพด้านอุตสาหกรรม คือ การพัฒนาอาชีพที่อาศัยองค์ความรู้ เทคโนโลยีนวัตกรรม ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดในประเทศและต่างประเทศและศักยภาพหลักของพื้นที่
2.3 งานอาชีพด้านพาณิชยกรรม คือ การพัฒนาหรือขยายขอบข่ายอาชีพด้านพาณิชยกรรม เช่น ผู้ให้บริการจำหน่ายสินค้าทั้งแบบค้าปลีกและค้าส่ง
2.4 งานอาชีพด้านความคิดสร้างสรรค์ คือ เป็นอาชีพที่อยู่บนพื้นฐานของการใช้องค์ความรู้ การศึกษา การสร้างสรรค์ และการใช้ทรัพย์สินทางปัญญา ที่เชื่อมโยงพื้นฐานทางวัฒนธรรม การ สั่งสมความรู้ของสังคม และเทคโนโลยีนวัตกรรมสมัยใหม่
2.5 งานอาชีพด้านอำนวยการและอาชีพเฉพาะทาง เช่น ธุรกิจบริการท่องเที่ยว ธุรกิจบริการสุขภาพ ธุรกิจบริการโลจิสติกส์ ธุรกิจภาพยนตร์ ธุรกิจการจัดประชุมและแสดงนิทรรศการ บริการที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ ที่ปรึกษาทางธุรกิจ
เรื่องที่ 3 การขยายกระบวนการจัดการงานอาชีพในชุมชน สังคม ประเทศ และภูมิภาค 5 ทวีป
กระบวนการจัดการงานอาชีพมีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ มีรายละเอียดดังนี้
3.1 การจัดการการผลิต กระบวนการของการจัดการการผลิต เป็นการวิเคราะห์ลักษณะ ขอบข่ายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการการผลิต ประกอบด้วย
1. การวางแผน การวางแผนเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานตามนโยบายเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของธุรกิจ โดยกำหนดกิจกรรมไว้ชัดเจนว่า จะให้ใครทำอะไร ที่ไหน เมื่อใด เพราะอะไร ด้วยวิธีใด
2. การจัดทำโครงการ คือ การดำเนินการในขอบเขตที่จำกัด โดยมุ่งหวังความสำเร็จของงานเป็นสำคัญ มีการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ขององค์กร ซึ่งเกี่ยวพันกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการใช้ทรัพยากร
ส่วนประกอบของโครงการ มีดังนี้
1. ชื่อโครงการ
2. ชื่อผู้ดำเนินโครงการหรือผู้จัดทำโครงการ
3. หลักการและเหตุผลหรือความสำคัญของโครงการ
4. วัตถุประสงค์ ระบุว่า มุ่งที่จะให้เกิดผลอะไร อย่างไร
5. เป้าหมาย กำหนดเป้าหมายของผลผลิตให้ชัดเจน
6. ระยะเวลา กำหนดระยะเวลาตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดโครงการ
7. งบประมาณ
8. ขั้นตอนวิธีดำเนินงาน
9. การติดตามและการประเมินผล
10. ผลที่คาดว่าจะได้รับ
3.2 การจัดการการตลาด ประกอบด้วย
1. การกำหนดทิศทางการตลาด
2. การหาความต้องการของตลาด
3. การขนส่ง
4. การขาย
5. การกำหนดราคาขาย
6. การทำบัญชีประเภทต่าง ๆ
เรื่องที่ 4 คุณธรรม จริยธรรม
ผู้ประกอบการจะต้องมีคุณธรรม จริยธรรรม เกี่ยวกับเรื่องความรับผิดชอบในการผลิตสินค้า และบริการ โดยมีคุณลักษณะ ขยัน ซื่อสัตย์ รู้จักประหยัด อดออม มีความพากเพียร มีอุตสาหะ เพื่อความมั่นคงในการพัฒนาอาชีพของตนเองให้มีความมั่นคง
4.1 การพัฒนาตนเองตามแนวพระราชดำริ
4.1.1 มีความรู้ ความสามารถ
4.1.2 รู้จักการประยุกต์ใช้
4.1.3 คิดอย่างรอบคอบ
4.1.4 ใช้ปัญญา
4.1.5 มีสติและสงบสำรวม
4.1.6 มีความจริงใจและมีสัจจะ
4.1.7 มีวินัย
4.1.8 สร้างสรรค์และพัฒนา
4.1.9 วางแผนในการทำงาน
4.2 การพัฒนาตนเองตามแนวพุทธศาสนา
4.2.1 ทาน คือ การให้ การเกื้อหนุนจุนเจือซึ่งกันและกัน
4.2.2 ศีล คือ การรักษา กาย วาจา ใจ ไม่เบียดเบียนกัน
4.2.3 ปริจจาคะ คือ การสละสิ่งที่เป็นประโยชน์น้อย เพื่อประโยชน์ที่มากกว่า
4.2.4 อาชวะ คือ ความเป็นผู้ซื่อตรงต่อตนเอง บุคคล องค์กร มิตรสหาย หน้าที่การงาน
4.2.5 มัทวะ คือ ความอ่อนโยน มีอัธยาศัยไมตรี อ่อนโยน มีสัมมาคารวะต่อผู้ใหญ่ ถือตนวางอำนาจ
4.2.6 ตบะ คือ ความเพียร เป็นผู้มีความอดทนสูง
4.2.7 อักโกธะ คือ ความไม่โกรธ ไม่พยาบาทมุ่งทำร้ายผู้อื่น
4.2.8 อหิงสา คือ การหลีกเลี่ยงความรุนแรงและไม่เบียดเบียนหรือเคารพในชีวิตของผู้อื่น
4.2.9 ขันติ คือ ความอดทน ต่อการประกอบการต่าง ๆ อดทนต่อถ้อยคำไม่พึงประสงค์
4.2.10 อวิโรธนะ คือ ความไม่ผิด ผิดในที่นี้ หมายถึง ผิดจากความถูกต้อง คนทั่วไปทำผิด เพราะไม่รู้ว่าผิด หรือรู้ว่าผิดแต่ยังดื้อดึงทำ ทั้ง ๆ ที่รู้ ถ้าปล่อยเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ ก็ไม่รู้จัก ไม่อาจปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้องได้เลย
เรื่องที่ 5 การอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมในการขยายอาชีพในชุมชน สังคม และภูมิภาค 5 ทวีป
ทรัพยากร เป็นปัจจัยที่สำคัญในการประกอบอาชีพ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ทรัพยากรธรรมชาติ และทรัพยากรในการประกอบการ
ในการขยายขอบข่ายอาชีพ ผู้ประกอบอาชีพจำเป็นต้องคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม เช่น ป่าไม้ ดิน น้ำ ทรัพยากรมนุษย์ ต้นทุนการผลิตอย่างคุ้มค่า และวิถีชีวิตของคนในชุมชน สังคมนั้น ๆ